วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กิจกรรมบำบัด

กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy)

วิชาชีพกิจกรรมบำบัด เป็นวิชาชีพทางการแพทย์แขนงหนึ่งที่ต้องอาศัยความรู้ทั้งทางด้าน “ศาสตร์และศิลป์” (Science & Art) ในการปฏิบัติงานกับผู้รับบริการ
หัวใจหลักของกิจกรรมบำบัด คือ การใช้ “กิจกรรม” เป็นสื่อในการประเมิน (screen/assessment) บำบัดรักษา(intervention) และ ส่งเสริม (promotion) ให้ผู้รับบริการ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มความสามารถ"
กิจกรรม ในความหมายของกิจกรรมบำบัดหมายถึง กิจกรรมทุกๆ อย่างในชีวิตประจำวัน  “ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงการนอนหลับ” อีกครั้งหนึ่ง (กิจกรรมการนอน การลุก การนั่ง การยืน การเดิน การดูแลสุขอนามัยร่างกาย การรับประทาน การทำอาหาร การเรียน การทำงาน การพักผ่อน กิจกรรมทางสังคม ฯลฯ)

            เพื่อให้เข้าใจงานกิจกรรมบำบัด ผู้เขียนได้แบ่งประเภทของการบริการทางกิจกรรมบำบัดไว้เป็น กลุ่มงาน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มงานผู้รับบริการเด็ก กลุ่มงานผู้รับบริการที่มีปัญหาทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ กลุ่มงานผู้รับบริการทางจิตเวช กลุ่มงานผู้สูงอายุ และกลุ่มงานกิจกรรมบำบัดในชุมชน โดยมีรายละเอียดแต่ละกลุ่มงานดังนี้

1. กลุ่มงานผู้รับบริการเด็ก ให้บริการตรวจวัด/กระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการให้เป็นไปตามวัย เตรียมความพร้อมทักษะขั้นพื้นฐานชั้นเรียน ทักษะการดำเนินชีวิตและทักษะทางสังคมในเด็ก กลุ่มผู้รับบริการประกอบด้วย
·       เด็กพัฒนาการล่าช้า (Delayed developmental)
·       เด็กที่เรียนรู้ช้า (Learning disability)
·       เด็กที่มีความพิการ เช่น หูหนวก ตาบอด
·       เด็กพิเศษต่างๆ เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้า (mental retardation) สมองพิการ (cerebral palsy) ดาวน์ซินโดรม และเด็กที่ความผิดปกติทางระบบประสาท

ภาพประกอบ 1 การตรวจวัดพัฒนาการกล้ามเนื้อ และความสามารถในการรับรู้

ภาพประกอบ 2 กิจกรรมฝึกทักษะทางสังคม และกิจกรรมกระตุ้นประสาทความรู้สึก
ภาพประกอบ 3 การฝึกการดำเนินชีวิตอิสระ (การใช้จ่าย/ประกอบอาหาร/การเดินทาง)

   2. กลุ่มงานผู้รับบริการที่มีปัญหาทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย ระบบประสาทและการรับรู้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามระดับความสามารถสูงสุด นอกจากนี้ยังให้บริการฝึกเตรียมความพร้อมทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ผู้รับบริการประกอบด้วย
·       ผู้ที่มีปัญหาเรื่องของระบบกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อหรือการเคลื่อนไหว เช่น อัมพาตแขนขา หรืออัมพาตครึ่งซีก/ครึ่งท่อน (hemiplegia/quardriplegia)
·       ผู้ที่มีความบกพร่องด้านประสาทรับความรู้สึก (sensory)
·       ผู้ที่มีความบกพร่องด้านการรับรู้และเข้าใจ (perception & cognition)
·       ผู้พิการแขนขา หรือนิ้ว

ภาพประกอบ 4 การฝึกการกล้ามเนื้อแขนข้างอ่อนแรง และการฝึกสวมใส่เสื้อผ้า
 
ภาพประกอบ 5 การฝึกเตรียมอาหาร/เครื่องดื่ม และการฝึกใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ล้อเข็น
ภาพประกอบ การจัดหาและทำอุปกรณ์ดามและอุปกรณ์ช่วยให้แก่ผู้รับบริการ

  3. กลุ่มงานผู้รับบริการทางจิตเวช ให้บริการฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน การดูแลสุขอนามัย ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ประกอบอาชีพและมีส่วนร่วมในสังคมได้ อีกทั้งมุ่งเน้นการฝึกให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้โดยไม่เป็นภาระต่อญาติหรือผู้ดูแล กลุ่มผู้รับบริการประกอบด้วย
·       ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มีอาการหลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน
·       ผู้ติดสารเสพติด
·       ผู้ที่มีความเครียดสูงที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ การทำงาน การพักผ่อน

ภาพประกอบ 7 งานกิจกรรมบำบัดในกลุ่มผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิง เชียงใหม่

4. กลุ่มงานผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ มักประสบกับภาวะความเสื่อมทั้งระบบกระดูก กล้ามเนื้อ ความคิด ความจำ ความเข้าใจ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมตามมา ดังนั้น งานกิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุ จึงมุ่งเน้นการคงความสามารถทั้งทางด้านร่างกาย ด้านการรับรู้และเข้าใจ
ภาพประกอบ 8 การประเมินภาวะสมองเสื่อม และกิจกรรมกระตุ้นความคิดความเข้าใจ
ภาพประกอบ กิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชนและตามวัฒนธรรม

   5. กลุ่มงานกิจกรรมบำบัดในชุมชน เป็นการออกให้บริการตรวจประเมิน บำบัดรักษา และปรับสภาพที่อยู่อาศัยของผู้รับบริการในท้องถิ่นต่างๆ นอกจากนี้นักกิจกรรมบำบัดยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรในชุมชน เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการจัดทำโครงการดูแลสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น

ภาพประกอบ 10 การออกให้บริการในชุมชน
           
<iframe width="420" height="315" src="http://www.youtube.com/embed/YGqDYS9MdTM" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น