วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กระบวนการและองค์ประกอบของการสอนเด็กพิเศ



เริ่มจากสังเกตพฤติกรรมทั่วไป และทำการประเมินความสามารถพื้นฐานของเด็ก เพื่อจัดวางแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP : Individual Education Program) โดยเน้นการใช้เทคนิคการสอนทางการศึกษาพิเศษที่เหมาะสมกับปัญหา และความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล 
 ในการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ต้องมีการวางแผนการสอนด้วยความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครอง นักการศึกษาพิเศษ นักกิจกรรมบำบัด และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ
 เทคนิคการสอนเด็กพิเศษควรผสมผสานความเข้าใจด้านจิตวิทยาเด็กที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ภาวะอาการ และความต้องการพิเศษของเด็ก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนเด็กพิเศษได้อย่างมี ประสิทธิผล
 หลังจากผ่านการประเมินจากแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) แล้ว จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักสูตร และวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา โดยนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นแผนการสอนรายบุคคล (IIP : Individual Implementation Program) ซึ่งเน้นวิธีการสอน และกระบวนการสอนอย่างเป็นระบบ มีลำดับขั้นตอนการสอนในเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชา 

การสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลอย่างมีเงื่อนไข
 ทำการประเมินผลการเรียนไปพร้อม ๆ กันกับการปรับเปลี่ยนแผนการสอนหากพบข้อบกพร่องในการเรียนการสอน นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง รวมถึงการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความรู้ และแสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ

ขอบข่าย และกระบวนการจัดการเรียนการสอนเด็กพิเศษ
 ทำการคัดกรองและประเมินความสามารถพื้นฐานของเด็ก เพื่อให้ทราบถึงระดับความสามารถ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน
 ให้การส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมแก่เด็กตามพัฒนาการที่พึงประสงค์ในแต่ละช่วงวัย
 มีการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลเพื่อการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อพัฒนาการ และความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน
 ให้คำแนะนำและทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครองหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก ว่าควรให้การส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กในด้านใดบ้าง เช่น ทักษะด้านการคิด ทักษะด้านวิชาการ ทักษะด้านการสื่อความหมาย และการใช้ภาษา เป็นต้น
 ให้การฝึกฝนและเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และถูกต้องเหมาะสมต่อ สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์
 มีการเสริมประสบการณ์พิเศษแก่เด็กเพื่อให้เด็กมี โลกทัศน์ที่กว้างขึ้นรวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

 กรณีตัวอย่าง
การจัดการเรียนการสอน "เรื่องวงรี" มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เด็กสามารถ ชี้ หยิบ บอก วัตถุต่าง ๆ ที่เป็นรูปวงรีได้ โดยนักการศึกษาพิเศษจะเริ่มสอนโดยการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กก่อน เช่น ให้ร้องเพลงเกี่ยวกับไข่ จากนั้นให้เด็กได้สัมผัสกับวัตถุจริงเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าลักษณะของไข่เป็นรูปวงรี เมื่อเด็กเห็นวัตถุต่างๆ รอบตัวที่มีลักษณะเหมือนไข่ เด็กจะสามารถสรุปได้ว่าเป็นรูปวงรี นอกจากนี้ ยังมีการใช้สื่อต่างๆ ประกอบในการสอน เช่น ให้เด็กตัดกระดาษ หรือให้เด็กใช้นิ้วระบายสีเป็นรูปวงรีร่วมด้วย
การจัดการเรียนการสอนเรื่องตัวเลข "0 - 9" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กสามารถ ชี้ หยิบ บอก ตัวเลข 0 - 9 ได้ โดยนักการศึกษาพิเศษจะเริ่มสอนโดยการเตรียมความพร้อมของเด็กก่อน เช่น ท่อง 1 - 10 พร้อมกัน ช่วยกันหาตัวเลขที่มีอยู่รอบๆ ห้องเรียน จากนั้นนำตัวเลขจำลองให้เด็กสัมผัสและใช้นิ้วมือลากตามตัวเลข พร้อมทั้งออกเสียงตามครูซ้ำ ๆ 5 - 7 ครั้ง ต่อ 1 ตัวเลข นอกจากนี้ ยังมีการใช้สื่อต่างๆ ในการสอน ตัวอย่างเช่น โรยทรายลงบนตัวเลขที่กำหนดให้ เป็นต้น
ในกรณีที่เด็กมีภาวะไม่อยู่นิ่ง บทบาทของนักการศึกษาพิเศษจะช่วยจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับภาวะอาการของเด็ก โดยจัดให้เด็กเรียนรู้ผ่าน กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เช่น เมื่อเด็กเรียนเรื่องวงรี อาจจะจัดวางรูปวงรีตามมุมต่าง ๆ ของห้องเรียน หรือ จัดการแข่งขันหาตัวเลขต่าง ๆ ตามคำสั่งของครู เพื่อให้เด็กสามารถเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนได้ และเมื่อเด็กทำได้สำเร็จจะก่อให้เกิดความภาคภูมิในใจตนเอง และมีความสนใจที่จะเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป 
กระบวนการเรียนรู้ของเด็กสมาธิสั้น
 
            สมาธิสั้น หรือ Attention Deficit and Hyperactivity Disorder หรือ ใช้อักษรย่อว่า ADHD บางครั้งจะพบคำว่า ADD ซึ่งมาจากคำว่า Attention Deficit Disorder ซึ่งหมายถึงภาวะสมาธิบกพร่องและมีพฤติกรรมอยู่ไม่สุขร่วมด้วย (ADHD)
            เด็กสมาธิสั้นเป็นลักษณะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษประเภทหนึ่ง หมายถึงเด็กที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมแสดงออกซ้ำ ๆ จนเป็น ลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับอายุหรือระดับพัฒนาการ ในเรื่องของการขาดสมาธิ ความหุนหันพลันแล่น ยับยั้งตัวเองไม่ค่อยได้ และ / หรือซุกซนไม่อยู่นิ่ง ไม่สามารถให้ความสนใจต่อการเรียนได้อย่างจริงจังและนานเพียงพอ โดยจะปรากฏอาการก่อนอายุ 7  ปี

ลักษณะของเด็กสมาธิสั้น
            ลักษณะของเด็กสมาธิสั้นอาจมีทั้งลักษณะทางอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งสรุปเป็นลักษณะใหญ่ ๆ 3 ลักษณะ คือ
            1.   สมาธิบกพร่อง เสียสมาธิง่าย   ให้ความสนใจกิจกรรมได้ไม่นาน วอกแวกง่าย จึงทำงานไม่เสร็จ   ต้องคอยกระตุ้น  ควบคุม   จึงจะทำได้ตามเวลาที่ต้องการ   มีปัญหาในการปฏิบัติตามคำสั่งที่ซับซ้อน   ต้องบอกซ้ำหลายครั้ง   ทำของหายหรือหลงลืมอยู่เสมอ
            2.   ความผลีผลาม พูดหรือแสดงออกก่อนคิด   หุนหันพลันแล่น   มีความว่องไวผิดปกติ   ขาดความระมัดระวัง   บางคนซุกซนมาก เลอะเทอะ ซุ่มซ่ามไม่เรียบร้อย
            3.   พฤติกรรมอยู่ไม่สุข นั่งนิ่ง ๆ นานไม่ได้จะขยุกขยิกตลอดเวลา   พร้อมที่จะลุกออกจากที่ ไม่สนใจเวลาครูสอน   เพราะทำอย่างอื่นไปด้วย   แต่เมื่อถูกซักถามอาจพบว่าเด็กฟังและเข้าใจ   เล่นเงียบ ๆ ไม่ได้เวลาไปไหนมักยื่นมือยื่นเท้าไปจับ   เขี่ย เตะ เคาะ หรือปัดสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างทางมีความยากลำบากในการรอคอย   ไม่ยอมเข้าคิว พูดมากผิดปกติ   มักพูดสอดแทรก หรือรบกวนผู้อื่น
            ลักษณะทางอารมณ์ที่พบคือ   อารมณ์แปรปรวนง่าย ไม่สามารถควบคุมตนเองได้   เมื่อเกิดความคับข้องใจ ขาดความอดทน อดกลั้น ใจร้อน โมโหร้าย เรียบร้องความสนใจสูง ไม่ค่อยอยู่ในกฏกติกา

 สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น
            อาการสมาธิสั้น อาจมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้
          1. พันธุกรรม จากการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่พบว่า อาการสมาธิสั้นมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงสัดส่วน 4 : 1
          2. ปัญหาชีววิทยาในสมอง
                2.1 ปัญหาจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งช่วยในการติดต่อสื่อสารกับเส้นประสาทอื่น ๆ   ซึ่งมีอิทธิพลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อการเคลื่อนไหวต่าง ๆ การควบคุมชีพจร และการควบคุมสภาพอารมณ์ จึงทำให้เด็กบางคนมีลักษณะผลีผลาม   มีพฤติกรรมอยู่ไม่สุข   และมีอารมณ์ ไวต่อความรู้สึกต่าง ๆ มาก
                2.2 ความล่าช้าในพัฒนาการ ซึ่งเกิดจากระบบภายในสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิ และการตื่นตัวมีพัฒนาการบางด้าน   เช่น   พัฒนาการของกล้ามเนื้อเล็กล่าช้ากว่าเด็กปกติ
            3. ความผิดปกติในระบบประสาท ได้แก่ สมองอักเสบ   ภาวะการขาดออกซิเจนระหว่างคลอด อุบัติเหตุทางสมอง   การได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว   การติดเชื้อในมารดาหรือการรับประทานยา แอลกอฮอล์ สารเสพย์ติด   ระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น

อาการหรือโรคที่คล้ายกับเด็กสมาธิสั้น (ADHD)
             โรคบางโรคหรือภาวะบางภาวะ มีลักษณะอาการคล้ายกับเด็กสมาธิสั้น   หรือ   บางครั้งอาจมีอาการร่วมกัน ได้แก่
            1.   ความผิดปกติทางพัฒนาการ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กออทิสติก เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น
            2.   โรคทางกาย เช่น ความผิดปกติทางสมอง ความบกพร่องทางประสาท สัมผัส โดยเฉพาะหู บกพร่องทางการพูด โรคลมชัก เป็นต้น
            3.   ปัญหาทางจิตเวช เช่น ความผิดปกติในการปรับตัว โรคประสาท วิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคจิต ติดยาเสพย์ติด เป็นต้น
            4.   ปัญหาทางครอบครัวและสิ่งแวดล้อม   เช่น ครอบครัวแตกแยก   การเลี้ยงดูบกพร่อง ขาดวินัย   หรือ   มีภาวะตึงเครียดในครอบครัวที่เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ   การตกงาน ความเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว   เป็นต้น
            5.   การมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งตามวัยของเด็ก
            6.   อาการทีเกิดจากการใช้ยาบางประเภท   ที่มีผลต่อการทำงานของสมอง   และระบบประสาท

การคัดแยกเด็กสมาธิสั้น
             ในการคัดแยกเด็กสมาธิสั้นใช้เกณฑ์ของ DSM - IV  ในการพิจารณา  2  ข้อ ดังนี้
            1.   ถ้าพบลักษณะของภาวะสมาธิสั้น อย่างน้อย 6 ข้อ เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน ซึ่งลักษณะดังกล่าวผิดไปจากพัฒนาการปกติ คือ
                1.1 มีความผิดพลาด   หรือความไม่ใส่ใจในรายละเอียดของงาน   เช่น งานที่โรงเรียน การบ้าน หรือกิจกรรมอื่น  ๆ   เกิดขึ้นอยู่เสมอ
                1.2 ไม่มีสมาธิที่จะทำงาน   หรือเล่นได้นาน ๆ 
                1.3 เมื่อมีคนพูดด้วย ไม่ค่อยยอมฟัง
                1.4 มักไม่ทำตามคำแนะนำและไม่สามารถทำงานที่โรงเรียน งานบ้าน ตลอดจนงานที่มอบหมายให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย โดยมิได้ เกิดจากความไม่เข้าใจคำสั่ง   หรือ  พฤติกรรมต่อต้าน
                1.5 มีความยากลำบากในการจัดการ หรือ   จัดระบบงานต่าง ๆ ให้เรียบร้อย
                1.6 ไม่ชอบหรือมักหลบเลี่ยงงาน   หรือ   กิจกรรมที่ต้องอาศัยความตั้งใจอย่างต่อเนื่อง   เช่น งานที่โรงเรียนหรือการบ้าน เป็นต้น
                1.7 มักทำของหาย เช่น ของเล่น   สมุดการบ้าน ดินสอ หนังสือเป็นต้น
                1.8 วอกแวกกับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย
                1.9 หลงลืมง่าย   แม้กระทั่งกิจวัตรประจำวัน
             2. พบลักษณะของการตื่นตัวเกินปกติหรือลักษณะหุนหันพลันแล่น   ซึ่งเป็นอาการของสมาธิสั้นอย่างน้อย 6 ข้อเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน ซึ่งลักษณะดังกล่าวผิดไปจากพัฒนาการปกติคือ
                2.1   ภาวะตื่นตัว
                    2.1.1   มือหรือเท้าขยุกขยิกอยู่เสมอ หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้
                    2.1.2  ลุกจากที่นั่งในห้องเรียน หรือสถานที่อื่น ๆ โดยไม่ สมควรอยู่เสมอ
                    2.1.3  ชอบวิ่งเล่น หรือ ปีนป่ายในสถานที่ที่ไม่สมควร ( ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่มักแสดงอาการกระสับกระส่าย )
                    2.1.4  เล่นเงียบ ๆ ไม่ได้
                    2.1.5   ดูเหมือนมีความพร้อมจะทำอะไรได้อยู่ตลอดเวลาหรือทำอะไรไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 
                    2.1.6  พูดมากจนเกินควร
               2.2   ลักษณะหุนหันพลันแล่น
                    2.2.1   มักตอบคำถามก่อนที่จะจบคำถาม
                    2.2.2   รอไม่ได้ เช่น การรอเข้าแถวเล่นเกม   รอให้ถึงลำดับตนเองไม่ได้
                    2.2.3   ชอบพูดแทรกขณะที่คนอื่นกำลังพูด   หรือ ชอบขัดจังหวะคนอื่น

ความต้องการพิเศษของเด็กสมาธิสั้น
         1. ด้านการศึกษา
        สิ่งที่สำคัญคือ  ครูจะต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กสมาธิสั้น  และยอมรับสภาพที่เป็นอยู่  นอกจากนี้ต้องจัดบรรยากาศการสอน ใช้เทคนิคการสอน  และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้ของเด็กสมาธิสั้น เช่น
               1.1  เขียนคำสั่งชัดเจนสั้น ๆ  ไว้บนกระดานดำ  และอ่านให้เด็กฟัง
               1.2   แบ่งคำสั่งเป็นลำดับขั้นตอนย่อย  ๆ  และ บอกวัตถุประสงค์ว่าต้องการให้เด็กทำอะไรอย่างชัดเจน
               1.3   จัดให้เด็กสมาธิสั้นนั่งกับเพื่อนที่มีศักยภาพ  และ ความเข้าใจการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น  และ ใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อน
               1.4   ให้เวลาเพิ่มขึ้นในการทดสอบ  และ การทำงานเกี่ยวกับการเรียน
               1.5   เตือนเด็กให้ส่งการบ้านทุกวัน
               1.6   จัดสถานการณ์ในชั้นเรียนให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้ของเด็ก
               1.7   เปิดโอกาสให้เด็กใช้แถบบันทึกเสียงคำอธิบายของครู
               1.8    เวลาครูพูดหรืออธิบายต้องแน่ใจว่าเด็กสมาธิสั้นตั้งใจฟัง
               1.9    ใช้การเตือนเป็นระยะ ๆ  เป็นการส่วนตัวกับเด็ก
               1.10  จัดแฟ้มแยกเป็นรายวิชาแล้วให้เด็กจัดเก็บงานที่ครูมอบหมาย
               1.11  ลดการบ้านน้อยลงกว่าปกติ
               1.12  ให้รางวัลพฤติกรรมที่พึงประสงค์
               1.13  ไม่ควรเขียนเครื่องหมายผิดในสมุดทำงานของเด็กเพราะเป็นการไม่เสริมแรง  เมื่อเด็กทำไม่ได้ให้เว้นไว้ ให้ครูสาธิตวิธีทำให้เด็กดูเป็นขั้นตอนจนเด็กเกิดความเข้าใจ
               1.14  อย่าลงโทษเด็กหากมีปัญหาเกี่ยวกับความสะเพร่าเลินเล่อ  ขาดความเป็นระเบียบหรือขาดความสนใจ 
        2.ด้านจิตวิทยา และ พฤติกรรม 
               2.1  การปรับพฤติกรรม  เป็นการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์  โดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการปรับพฤติกรรมต้องร่วมมือกันทั้ง  ผู้ปกครอง   ครู และ ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น  นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์  แพทย์ เป็นต้น
               2.2  การฝึกทักษะทางสังคม  เพื่อพัฒนาความสามารถของเด็กในการเข้าสังคมและควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้  เช่น ความก้าวร้าว การขาดความยับยั้งชั่งใจ   เป็นต้น
        3. การใช้ยา
       จิตแพทย์เด็กจะเป็นผู้วินิจฉัยและการบำบัดด้วยยาในการรักษาให้เหมาะสมกับเด็กเพื่อช่วยควบคุม การทำงานของสมองให้สมดุล   ช่วยเพิ่มสมาธิและควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น แต่อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นบ้าง ที่พบบ่อยที่สุด คือ การเบื่ออาหารและนอนไม่หลับ และที่อาจเกิดขึ้นได้แต่น้อยมากคือ ปวดศีรษะ ปวดท้อง มึนงง ง่วงนอนหรือมีอาการลุกลี้ลุกลนเพิ่มขึ้น
        ในการใช้ยานั้นครูจะต้องช่วยดูแลการกินยาให้ถูกต้องและตรงเวลา และติดตามผลการใช้ยาของเด็กในระหว่างที่อยู่ในโรงเรียนด้วย   เพื่อรายงานผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นให้แพทย์ใช้เป็นข้อมูลในการบำบัดรักษาต่อไป
        การให้ความช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นนั้น ต้องร่มมือกันระหว่างพ่อแม่ ครู   แพทย์   จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ฯลฯ ดังนั้นการให้ความรู้แก่พ่อแม่ และบุคคลใกล้ชิดกับเด็กสมาธิสั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะทำให้รู้ถึงเทคนิคในการฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะแก่เด็ก การใช้ยาเพื่อปรับพฤติกรรมที่จะพัฒนาความสามารถของเด็ก และการให้ความช่วยเหลือด้านการเรียน
        นอกจากนี้ครูควรจะต้องเก็บข้อมูลทางด้านประวัติการศึกษา การแสดงออกของเด็กที่โรงเรียน   และพฤติกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียน    รวมทั้งผลการเรียนของเด็กเพื่อประโยชน์ในการประสานกับแพทย์ที่รักษาเด็กต่อไป

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็กสมาธิสั้น
        เมื่อเด็กสมาธิสั้นเข้าโรงเรียน พฤติกรรมที่พ่อแม่มองว่าน่ารักน่าเด็นดูอาจเปลี่ยนแปลงไป จนเริ่มจะไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ และคุณครู ดังนั้นคุณครูที่มีเด็กสมาธิสั้นอยู่ในห้องมักจะควบคุมเด็กเพิ่มขึ้น เพ่งเล็งเด็กมากขึ้น เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนที่มีเด็กสมาธิสั้นเรียนอยู่ด้วยก็จะได้รับการว่ากล่าวมากกว่าห้องเรียนที่ไม่มีเด็กสมาธิสั้นเรียน
        สิ่งที่คุณครูควรทราบอีกสิ่งหนึ่งคือ   เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีระดับเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ   น้อยรายจะมีปัญญาทึบร่วมด้วย บางรายอาจมีระดับเชาวน์ปัญญาดีเลิศ การที่เด็กสมาธิสั้นมิได้หมายความว่าเด็กจะเรียนไม่ได้ หรือมีปัญหาในการเรียนทุกรายไป เพียงแต่มีระยะเวลาติดตามการเรียนสั้นกว่าเด็กอื่น
        ปัญหาด้านการเรียนที่พบในเด็กสมาธิสั้นบ่อยที่สุด คือ   ความบกพร่องในความสามารถด้านการอ่านหนังสือ   การเขียน   หรือการคิดคำนวณถึงร้อยละ 10-30   จึงเรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้มีปัญหาทางการเรียนรู้ ( Learningdisability ) จึงจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเด็กปกติ
        เด็กสมาธิสั้นต้องการพ่อแม่   และคุณครูที่เข้าใจ โดยเฉพาะคุณครูจะให้ความช่วยเหลือเด็กได้เป็นอย่างดี   ส่งผลทำให้เด็ก
ได้พัฒนาความสามารถในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

เทคนิคการสอนเด็กสมาธิสั้น
        เด็กสมาธิสั้นควบคุมตนเองไม่ได้ จัดระเบียบให้ตนเองไม่ได้เหมือนกับเด็กทั่วไป   ครูต้องช่วยจัดระเบียบการเรียนไม่ให้ซับซ้อนเพื่อให้เด็กสามารถ
ประสบความสำเร็จในการเรียน
กิจกรรมประจำวัน
        กิจกรรมในแต่วันต้องมีลักษณะคงที่ มีตารางเรียนแน่นอน   ครูต้องบอกล่วงหน้าและย้ำเตือนความจำทุกครั้งก่อนมีการเปลี่ยนแปลง
        หาป้าย ข้อความ สัญลักษณ์ หรือช่วยเหลือความจำเด็กในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เช่น ให้เด็กเขียนชื่อวันบนปกหนังสือหรือสมุด เพื่อให้จัดตารางเรียนได้สะดวก
การจัดห้องเรียน
        เขียน ข้อตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียน   ไม่วิ่งเล่นในห้องเรียน   ส่งการบ้านที่นี่ เป็นต้น
        ข้อตกลง   ควรมีลักษณะเข้าใจง่าย เขียนสั้น ๆ เฉพาะที่สำคัญ แน่นอนไม่เปลี่ยนไปมา ทบทวนข้อตกลงบ่อย ๆ ลงโทษตามที่ตกลงกันไว้ ให้เจตคติทางบวก เป็นต้น
        จัดหาที่วางของในห้องเรียนในตำแหน่งเดิม เพื่อให้เด็กจำง่ายว่าจะวางอะไรไว้ที่ใด   วางให้เป็นที่เป็นทาง
        สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนรู้ขอบเขตความประพฤติของตนเอง
การจัดที่นั่ง
        1.1   จัดให้นั่งข้างหน้า หรือ แถวกลาง
        1.2   ไม่อยู่ใกล้ประตูหรือหน้าต่างที่มองเห็นข้างนอกห้องเรียน
        1.3   จัดให้นั่งใกล้ครูเพื่อดูแลได้อย่างใกล้ชิด
        1.4   ไม่ให้เพื่อที่ซุกซนชอบเล่นนั่งอยู่ใกล้ ๆ 

การเตรียมการสอน
        การเตรียมการสอนครูจะต้องเตรียมและดำเนินการ ดังนี้
        1.   งานที่ให้ทำต้องพอเหมาะกับความสนใจของเด็ก   ก่อนสอนครูต้องสังเกตความสนใจ    ช่วงความสนใจของเด็ก   ครูต้องแบ่งงานเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ใช้เวลาไม่เกิน 4 นาทีแล้วให้เด็กทำทีละขั้น เมื่อเสร็จแล้วจึงให้ทำขั้นต่อ   ๆ ไปตามลำดับ
        2.   งานบางอย่างที่เกินความสามารถของเด็กสมาธิสั้น   จะทำได้ครบทุกขั้นตอนด้วยตนเอง   ครูอาจให้เด็กทำขึ้นที่เด็กแน่ใจว่าทำได้ ให้เด็กมาให้ครูตรวจเมื่อถึงขั้นที่เด็กไม่แม่นยำ   ก่อนที่จะทำต่อไป   และเรียกเด็กมาทำตัวต่อตัวเมื่อถึงขั้นที่เด็กยังทำไม่ได้

การมอบหมาย
        1.   ครูควรใช้คำพูดให้น้อยลง พูดช้าๆ ชัดเจน กระชับ ครอบคลุม   ไม่ใช้คำสั่งที่คลุมเครือ   ไม่บ่น   ตำหนิติเตียนจนเด็กแยกไม่ถูกว่าครูให้ทำอะไร
        2.   ให้เด็กสมาธิสั้นพูดทบทวนที่ครูสั่งหรืออธิบายก่อนลงมือทำ   เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กเข้าใจในสิ่งที่ครูพูด   และครูเห็นปัญหาว่าเด็กไม่เข้าใจเรื่องใด และเป็นการฝึกให้เด็กพูดถ่ายทอดความคิดของตนเอง
การควบคุมขณะทำงาน
        1.   ให้เด็กทำงานเป็นขั้นตอน เช่น ทำทีละข้อ หรือทีละหน้า อย่าให้งานจนเด็กรู้สึกว่ามากเกินไป
        2.   การฝึกให้เด็กควบคุมตนเองเพื่อทำงาน ครูควรควบคุมการทำงานโดยบอกให้เด็กทำงานทีละขั้น เมื่อเด็กทำได้ดีแล้วครูค่อย ๆ ถอนตัวออก แต่ก็อย่าทิ้งไปเลย ควรตรวจการทำงานเป็นครั้งคราว
        3.   ฝึกเด็กให้ทำงานทีละอย่างให้สำเร็จ   แล้วจึงเริ่มงานชิ้นใหม่ต่อไป
        4.   ให้เด็กทำงานตามเวลาที่กำหนดให้   เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้วถ้ายังไม่เสร็จครูต้องตรวจงานของเด็ก

ครูที่สอนเด็กสมาธิสั้น ควรมีสิ่งต่อไปนี้
        1. มีความรู้เรื่องเด็กสมาธิสั้น
        2. มีความต้องการที่จะรับรู้ลักษณะความต้องการพิเศษของเด็กสมาธิสั้น
        3. มีเทคนิคการสอนเด็กสมาธิสั้น
        4. มีความสามารถวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาว่าพฤติกรรมใดที่แสดงว่าเด็กทำไม่ได้ พฤติกรรมใดที่เกิดจากการต่อต้าน
        5. เลือกวิธีใช้ในการแก้ปัญหาของเด็กและแรงจูงใจให้เด็กเรียน
        6. มีความสนใจที่จะทำความเข้าใจเด็กมากกว่าสนใจผลการเรียนของเด็ก
        7. ใช้การเสริมแรงทางบวก เช่น จับไหล่ เคาะสมุด เพื่อดึงความสนใจให้มาอยู่ที่แบบเรียนมากกว่าการเสริมแรงทางลบ เช่น เรียกชื่อ ดุ ด่า ว่าประจานในห้องให้อับอาย
        8. มีเวลาที่จะเรียกเด็กมาพูดคุยชี้แนะนอกเวลาเรียน
        9. พูดคุยกับผู้ปกครองอย่างน้อย 1 ครั้ง / สัปดาห์หรือจดหมายติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับเด็ก
        10. ใช้คำพูดสั้น ๆ บอกแนวทางการทำงานและผลงานที่ครูต้องการ
        11  มีความสามารถควบคุมห้องเรียนได้
        12  ยอมให้เด็กเคลื่อนไหวในห้องเรียนได้บ้างก่อนทำงานที่มอบหมายเสร็จเรียบร้อย
        13  มีข้อตกลงและระเบียบของห้องเรียน
        14  เนื้อหาการเรียนขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็ก
        15  วิชาเรียนที่เด็กสนใจควรจัดให้สลับกับวิชาเรียนที่เด็กไม่สนใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น